Soy yogurt face mask (มาส์คโยเกิร์ตถั่วเหลือง)
"Soy yogurt face mask"
ช่วงนี้ที่เราวอแวอยู่กับการทำโยเกิร์ตกินเอง บวกกับสนใจพวกเรื่อง skin microbiome พอดี จากโพสต์น้องมุกอยากเป็น beauty blogger ที่เราพูดเรื่อง probiotics อะไรนั่น แล้วที่เราบอกว่า งี๊เอาโยเกิร์ตมามาส์คหน้าก็จะได้ทั้ง probiotics ทั้ง postbiotics เลยอ่ะดิ (คำว่า postbiotics เราได้คำนีมาจากพี่มี่เพจเลดี้มียอนเลย) เออๆ นั่นแหละ จะท้าวความยังไงดี คือเดี๋ยวนี้เรากลับมาทำนมถั่วเหลืองกินเอง เพราะหลานเราแพ้นม กินนมวัวไม่ได้ แต่กินนมถั่วเหลืองได้ ด้วยความอยากมีส่วนร่วมในการเลี้ยงหลาน เราก็เลยเออๆ ทำนมถั่วเหลืองให้หลานกินดีกว่า ประกอบกับที่เราอ่านเรื่อง probiotics ใช่มะ ที่แบบว่า Bifida ferment lysate นี่ได้จากการเอา Bifidobacteria ซักสปีชียส์นึงไปหมักนมถั่วเหลืองแล้วก็จะได้สารนู่นนี่นั่นที่เป็นประโยชน์กับผิว (เคยทักไปถามพี่มี่เรื่อง probiotics ในสกินแคร์ "Lactobacillus/soybean หมักเสร็จ ได้ isoflavone ที่ตัวเล็กลง ซึมผิวดีขึ้น ผิวนุ่มฟู lactic acid ผลัดผิวเบาๆ ให้ isoflavone ลงได้ดีขึ้น" นี่คือสิ่งที่พี่มี่บอกให้ฟังมา) แบบ อ๋อ แบบนี้นี่เอง ขอให้เครดิตเค้านะ เพราะเราไม่ได้อ่านเจอมาด้วยตัวเอง เราก็เลยคิดว่างี๊เอาโยเกิร์ตนมถั่วเหลืองมามาส์คหน้า ก็น่าจะมีประโยชน์มากกว่านมวัวมั๊ย พักไว้ก่อน
มาเข้าเรื่องนมถั่วเหลือง พอเราจะทำนมถั่วเหลืองกินเองใช่ป่ะ เราก็หาเปเปอร์แหละว่า สัดส่วนน้ำต่อถั่วเหลืองควรจะเป็นเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้สารที่เป็นประโยชน์ออกมามากสุด ก็จะประมาณ 9-11 เราเคยทำ 10 แล้วมันไม่ค่อยข้น เราชอบข้นๆ เราเลยใช้ 9:1 เราไม่หาเปเปอร์มาแปะให้นะ อยู่ไหนแล้วไม่รู้ ถ้าใครไม่เชื่อ ไม่มั่นใจ ก็ไปหาอ่านเองได้เลยเด้อ แล้วเราก็เติมน้ำตาลกรวดไป 4 กรัม ต่อถั่วเหลืองที่เราใช้ 25 กรัม อันนี้คือที่เราทำไว้กินอยู่แล้ว อ่ะ เรื่องนมถั่วเหลืองจบ
มาต่อเรื่องโยเกิร์ตนมถั่วเหลือง เรามี culture (หัวเชื้อ ป่ะ) สำหรับทำโยเกิร์ตอยู่ ประกอบไปด้วยเชื้อพวกนี้
- Streptococcus thermophilus
- Lactobacillus delbrueckii subsp. bulgaricus
- Lactobacillus delbrueckii subsp. lactis
- Lactobacillus acidophilus
- Bifidobacterium lactis
มีตัวที่เราอยากได้ครบเลย แต่ดั๊น เราเหลือ strarter อยู่ไม่กี่ซอง เลยเกิดความงก ไม่อยากเอาของตัวเองมาใช้ กลัวหมดแล้วหาซื้อไม่ได้ ไม่มีทำ เราก็เลยไปหาดูที่เค้ามีขายๆกันว่ายี่ห้อไหนน่าสนใจบ้าง ก็มีโยลิดา กับ ริวอง ไม่รู้จะเป็นดราม่ารึเปล่านะ จะเรียบเรียง timeline ให้ฟัง
1. เราใช้สตาร์ทเตอร์ที่เรามีใส่นมดิบ เราได้โยเกิร์ต
2. เราใช้โยเกิร์ตริวองกับนมเอ็มมิลค์ เราไม่ได้โยเกิร์ต คือไม่ได้อะไรเลย ก่อนเป็นยังไง หลังก็เป็นแบบนั้น รอบนี้เราตั้งสมมติฐานว่า ในโยเกิร์ตริวองไม่มีจุลินทรีย์ โมโหมาก ด่าโยเกิร์ตไปหลายวัน
3. เราใช้สตาร์ทเตอร์ห่อสุดท้ายที่เรามีกับนมเอ็มมิลค์ เราก็ไม่ได้โยเกิร์ตอีกเหมือนเดิม เราไม่ได้ซื้อสูตร lactose free มานะ ถึงเราจะเป็นคนเสร่อ แต่รอบนี้เราก็ไม่ได้เสร่อขนาดนั้น เริ่มคิดละ หรือว่าเออมันไม่มีน้ำตาลไรเลยวะ ไปอ่านเจอว่าจุลินทรีย์ที่เรามีใช้ ซูโครสเป็น substrate ได้ เราก็เลยใส่น้ำตาลทรายลงไป แต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นเหมือนเดิม
4. เราเอานมดิบมาเติมโยเกิร์ตในข้อ 3 สรุป เราได้โยเกิร์ต เราขอสรุปแบบหยาบๆเลยว่า เราใช้นมเอ็มมิ้ลค์ทำโยเกิร์ตไม่ได้ คือมันผิดวิสัยมาก แล้วก็ขอโทษโยเกิร์ตนมถั่วเหลืองด้วย ที่บ่นมันมาหลายวัน เราเคยทำโยเกิร์ตแบบใช้นมขวด โยเกิร์ตกระปุก ไม่ได้ควบคุมอุณหภูมิด้วย ถึงจะเป็นเชื้อแบบ Thermophilic เราตั้งไว้ข้ามคืน เช้ามาเราก็ได้โยเกิร์ตแล้ว แต่รอบ 2-3 นี่ ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย จบไป
5. เราซื้อเครื่องทำโยเกิร์ตจาก lazada มา 179 บาท ใส่นมสด pasturize แบบ pasturize จริงๆ ไม่ใช่ UHT เราก็ทำการใส่นมกับโยเกิร์ตที่ได้จากข้อ 4 ลงไป สิ่งที่เราได้คือ ตะกอนนมแข็งๆที่ติดอยู่ก้นชาม
6. เราทำซ้ำข้อ 5 ใหม่ รอบนี้เราเติมนมผงไปด้วย แต่ว่าใส่เครื่องทำโยเกิร์ตไปแค่ 13 ชม. มันก็เหนียวๆอยู่ข้างล่าง ยืดๆ แบบฟิล์ม เราเลยคนๆให้เข้ากันแล้วเอาไปเข้าเตาอบต่อ แรกๆก็เหมือนจะดีขึ้น แต่พอผ่านไปหลายๆชม. ผลลัพธ์ที่ได้ก็เหมือนกับข้อ 5
7. ก่อนจะไปรีวิวว่าเครื่องโยเกิร์ตไม่เวิร์ค ห่วยแตก เราก็ให้โอกาสตัวเองอีกครั้ง ในการซื้อนมขวดมาใช้ แล้วก็ใช้ strarter จากข้อ 4 เหมือนเดิม เราได้โยเกิร์ตว่ะ นมดิบไม่เวิร์คกับการทำโยเกิร์ตเพราะมันมีสารบางอย่างที่ยังไม่ถูก denatured โดยความร้อน มันก็เลยยังมี enzyme อยู่ แล้วก็เลยทำอะไรซักอย่าง เวย์ที่ได้ก็เลยเยอะ รอบนี้เราทิ้งไว้แค่ 8 ชม. เราไปหาอ่านเพิ่มเค้าบอกว่า ถ้าอุณภหภูมิสูงไป หรือเวลาที่ใช้บ่มมากไป มันก็จะเกิดการแยกชั้นของเวย์มาก
8. รอบนี้เราใช้นมถั่วเหลืองกับสตาร์เตอร์ข้อจากข้อ 4 เพื่อควบคุมตัวแปรต้น ทิ้งไว้ 8 ชม. แล้วเราก็ได้โยเกิร์ตน้ำเต้าหู้สมใจ ใช้เวลาเท่ากัน แต่ว่าเปรี้ยวกว่าอีก แต่หลังจากที่ไปหาเปเปอร์อ่าน หาทำไมไม่รู้จำไม่ได้ แต่ก็ไปเจอว่า ถ้ายิ่งเพิ่มเวลา เชื้อก็จะยิ่งมาก pH ก็จะยิ่งต่ำ แต่ว่าต่ำเท่าไหร่ล่ะ ถึงจะเป็นประโยชน์กับร่างกายมากที่สุด ไม่แน่ใจละ เลยไปดูมุม probiotics เค้าบอกว่าจะนับว่าเป็น probiotics ได้ก็ต้องมีจุลินทรีย์ 10^9 cfu ขึ้นไป แล้วการที่จะได้เชื้อรวมๆปริมาณเท่านี้ ก็ต้องทำการบ่มเป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชม.แต่ก็ไม่รู้นะว่าถ้าบ่มนานกว่านี้ เชื้อจะลดลงรึเปล่า เพราะการทดลองเค้าสิ้นสุดการทดลองที่ 12 ชม. โอเค คราวหน้าเราจะทำ 12 ชม. แต่แค่ตอนนี้ก็เปรี้ยวมากแล้วนะ ไม่เป็นไร เดี๋ยวใส่น้ำผึ้งเอา แต่เอาจริงๆป่ะ มันก็ไม่เป๊ะหรอก เพราะเราไม่รู้ว่าเชื้อตั้งต้นเรามีกี่ cfu ไม่รู้ว่า ปริมาณน้ำตาลในน้ำเต้าหู้ก็ไม่เท่าในเปเปอร์ แต่ก็นั่นแหละ จะใช้กิน จะใช้ทา เราว่ามันก็น่าจะมีประโยชน์อยู่ไม่มากก็น้อย "ไม่มากก็น้อย" ไม่ชอบคำนี้เลย 55555 อารมณ์แบบประโยคที่เขียนอยู่ในคำนำเล่มรายงานสมัยประถมเลย แต่ถ้าอยากรู้จริงๆนะ ก็ซื้อ uv-spectrophotometer มาวัดความขุ่น ไม่ก็ซื้อจานเลี้ยงเชื้อกับอาหารเลี้ยงเชื้อมาลองนับดูก็ได้ เอาจริงๆถ้ามีตังซื้อนะ เราทำไปแล้ว ไปให้สุด เรื่องเล่นๆ เรื่องไร้สาระ ทำแล้วไม่เกิดประโยชน์เท่าไหร่ เงินก็ไม่ได้นี่ เราถนัด
อ่ะๆมาถึง เรื่องเอาโยเกิร์ตถั่วเหลืองมามาส์คหน้าซักที ใครจะซื้อโยเกิร์ตถั่วเหลืองมาเลยก็ได้นะ ไม่ต้องทำเอง แต่ก็เขียนเผื่อไว้เผื่อมีคนอยากทำเอง
ชั่งโยเกิร์ตมาประมาณ 20 กรัม (ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ) แล้วก็ทาๆไปทั่วหน้าก่อน เสร็จแล้วก็ฉีกๆสำลีมา แผ่นนึงเราฉีกได้ 4 ชิ้น แล้วก็แปะๆไป แล้วก็ทาโยเกิร์ตทับอีกชั้น เราว่าวิธีนี้มันเห็นผลดีกว่า ทาทิ้งไว้เฉยๆ รอเวลาแล้วล้างออก ผลลัพธ์ที่ได้เหรอ หน้าก็จะนุ่มๆ ใสๆหน่อย มันก็ดูว่าน่าจะผลัดเซลล์ผิวได้นะ เพราะว่า pH มันก็ต่ำอยู่ 4 ไรงี๊ ก็ถือว่าโอเคนะ เพิ่มจุลินทรีย์ตัวดีๆบนหน้าไปด้วย ทรีทเมนต์หน้าด้วย สาระก็มีแค่นี้แหละอันนี้ ไปละ บ๊ายบาย
ตอนนี้เรากำลังเอาโยเกิร์ตใส่ขวดเล็กๆไปวางนอนๆเอาไว้ในตู้เย็นอยู่ เผื่อมันจะแยกชั้นได้น้ำใสๆ เผื่อนะ เผื่อเราจะได้เอาน้ำอันนั้นมาทำน้ำตบก็ว่าไป คิดแล้วอยากมีเรื่อง centrifuge เลย
ใช้โยเกิร์ตนมวัวมาส์คหน้าก็ได้นะ lactic acid อ่ะ ได้เยอะกว่าในโยเกิร์ตนมถั่วเหลืองอีก แต่ถ้าอยากได้พวก isoflavone aglycones ใช้ S.thermophilus กับ Lactobacillus หมักนมถั่วเหลืองก็จะไม่ได้สารพวกนี้เพิ่มขึ้นมา แต่ก็ยังได้อยู่ที่มีอยู่ในนมถั่วเหลืองอยู่แล้ว เปเปอร์ทำนมถั่วเหลืองที่เราหามาก็เพื่อหาสัดส่วนเพื่อสกัดสารพวกนี้ให้ออกมาได้เยอะๆแหละ ส่วน Bifido ก็ต้องสายพันธุ์ Bifidum ด้วย ถึงจะได้ออกมาเยอะๆ ส่วนสายพันธ์ที่เรามีก็ได้อยู่แหละ แต่ก็ไม่ได้เยอะมากมาย
Comments
Post a Comment